ยินดีต้อนรับสู่บล็อกภูมิศาสตร์ประเทศไทย

ยินดีต้อนรับนักเรียนทุกคนด้วยความยินดียิ่ง

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิศาสตร์ภาคใต้

ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคใต้
        ภาคใต้มีพื้นที่ประมาณ 70,715 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 14 จังหวัด แบ่งออกเป็น
- ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
- ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล

ขอบเขตและที่ตั้ง
    ทิศเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดินแดนที่อยู่เหนือสุดของภาคคือ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร
    ทิศตะวันออก มีพื้นที่ติดต่อกับอ่าวไทย ดินแดนที่อยู่ตะวันออกสุดของภาคคือ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
    ทิศตะวันตก มีพื้นที่ติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนที่อยู่ตะวันตกสุดของภาคคือ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
    ทิศใต้ มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซียที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้

     ภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรที่มีทะเลขนาบอยู่ 2 ด้าน คือ ตะวันออกด้านอ่าวไทย และตะวันตกด้านทะเลอันดามัน จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล ลักษณะภูมิประเทศแบ่งได้ 2 เขต คือ
1. เขตเทือกเขา     มีลักษณะการวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เช่น
       - เทือกเขาตะนาวศรี เป็นพรมแดนกั้นเขตแดนไทยกับพม่า
       - เทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นพรมแดนกั้นเขตแดนไทยกับมาเลเซีย
       - เทือกเขาภูเก็ต อยู่ทางตะวันตกของภาค
       - เทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นแกนกลางของภาค
2. เขตที่ราบ      ที่ราบในภาคใต้มีลักษณะยาวขนานระหว่างภูเขาและชายฝั่งทะเลแคบ ๆ ซึ่งทางตะวันออกเป็นชายฝั่งแบบยกตัว ส่วนชายฝั่งตะวันตกเป็นแบบยุบตัว

แม่น้ำที่สำคัญของภาค
       แม่น้ำของภาคใต้เป็นสายสั้น ๆ เนื่องจากมีพื้นที่น้อย และไหลลงสู่อ่าวไทย เช่น แม่น้ำชุมพร แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำตาปี แม่น้ำสายบุรี ส่วนแม่น้ำโกลก เป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ส่วนแม่น้ำปากจั่น กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่า และแม่น้ำตรังไหลลงสู่ทะเลอันดามัน

ลักษณะของชายฝั่งทะเลภาคใต้
       ภาคใต้มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 1,825 กิโลเมตร แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกตั้งแต่ชุมพรถึงนราธิวาส ยาว 960 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกยาว 865 กิโลเมตร ซึ่งมีลักษณะดังนี้
         - ชายฝั่งด้านตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) เป็นหาดทรายกว้าง เป็นฝั่งทะเลที่มีการยกตัวของพื้นที่ มีสันทรายจงอย มี ลากูน ที่เกิดจากสันดอนที่ปิดกั้นทะเลสาบสงขลาจากทะเลภายนอก มีอ่าวขนาดใหญ่ เช่น อ่าวบ้านดอน อ่าวชุมพร อ่าวสวี เป็นต้น
        - ชายฝั่งด้านตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน) เป็นฝั่งทะเลจมตัว มีชายหาดเว้าแหว่งและเป็นหาดน้ำลึกมีป่าชายเลนขึ้นตามชายฝั่ง
และมี ชวากทะเล คือ การยุบจมบริเวณปากแม่น้ำขนาดกว้าง อ่าวที่สำคัญของฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ อ่าวระนอง อ่าวพังงา อ่าวกระบี่ อ่าวกันตัง เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้
        ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม (Am) คือมีฝนตกชุกสลับกับฤดูแล้งสั้น ๆ ภาคใต้ไม่มีฤดูหนาว เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี จังหวัดที่มีฝนตกชุกที่สุดคือ ระนอง และจังหวัดที่มีฝนตกน้อยคือ สุราษฎร์ธานี

ปัจจัยควบคุมอุณหภูมิของภาคใต้
   1. ลม เป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้มากที่สุด เนื่องจากภาคใต้มีลักษณะเป็นคาบสมุทร ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มที่
   2. การวางตัวของภูเขา
      เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตกทำให้ปะทะกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้มีฝนตกหนักโดยเฉพาะจังหวัดระนอง ส่วนด้านหลังเขาเป็นเขตอับฝนจะอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สาเหตุของการเกิดฝนตกชุกในภาคใต้

1. เกิดจากร่องลมมรสุมที่เคลื่อนจากทางเหนือเข้าสู่เส้นศูนย์สูตร ทำให้ฝนตกชุก
2. เกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ นำฝนมาตกทางทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้
3. เกิดจากพายุดีเปรสชันที่ก่อตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ ทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วม

ทรัพยากรธรรมชาติของภาคใต้

1. ทรัพยากรดิน
ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มต่ำ (พรุ) มีน้ำท่วมขังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำใช้ปลูกข้าว และสวนผลไม้ ส่วนดินบริเวณที่สูงเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรัง เหมาะในการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน
2. ทรัพยากรน้ำ
ภาคใต้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี แต่มีปัญหาในการขาดแคลนน้ำเนื่องจากมีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ส่วนใหญ่จะใช้น้ำจากการขุดเจาะบ่อบาดาลและได้จากเขื่อนต่าง ๆ ได้แก่ เขื่อนคลองหลา จังหวัดสงขลา เขื่อนปัตตานี จังหวัดปัตตานี เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3. ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ในภาคใต้เป็นป่าดิบชื้นตามเทือกเขา และป่าชายเลน จังหวัดที่ป่าไม้มากสุดคือ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นป่าแพะ ป่าโคก ขึ้นปะปนกับทุ่งหญ้าสะวันนา ไม้ที่สำคัญของภาคใต้ คือ ไม้เบญจพรรณและไม้จากป่าชายเลน
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคใต้มีแร่ธาตุหลายชนิด ดังนี้
     - แร่ดีบุก พบมากที่สุดในภาคใต้และของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแร่ที่ทำรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด
     - แร่พลวงพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี , นครศรีธรรมราช
     - แร่ทังสเตน พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - ทองคำ พบที่อำเภอโม๊ะโต๊ะ จังหวัดนราธิวาสและที่ชุมพร
     - แร่ฟลูออไรด์ , ยิปซัม , ดินขาว พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
     - ถ่านหิน พบที่กระบี่และสุราษฎร์ธานี
     - น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ พบที่อ่าวไทย     
 
ประชากรในภาคใต้
      ภาคใต้มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช จังหวัดที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดและมีความหนาแน่นเบาบางที่สุดคือ ระนอง ส่วนจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดคือ ภูเก็ต

ปัญหาประชากรภาคใต้
1. ปัญหาความมั่นคงของชาติ การก่อการร้ายตามเขตแนวชายแดน
2. ปัญหาการล่วงล้ำน่านน้ำเพื่อทำการประมง
3. ปัญหาสินค้าหนีภาษี
4. ปัญหาคน 2 สัญชาติ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้

1. การเพาะปลูก พืชสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประชากรในภาคใต้คือ การทำสวนยางพารา ปลูกมากที่จังหวัดสงขลา รองลงมาคือ ปาล์มน้ำมัน ปลูกมาที่จังหวัดกระบี่ มะพร้าวปลูกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กาแฟ ปลูกที่จังหวัดตรัง ส่วนผลไม้ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ปลูกได้แทบทุกจังหวัดของภาค
2. การประมง ทำได้ทุกจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล ยกเว้นจังหวัดยะลา
3. การทำเหมืองแร่ ภาคใต้มีการทำเหมืองแร่มากที่สุด และเป็นรายได้สำคัญของภาคใต้
4. อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่นิยม เช่น การจักสานด้วยหวาย หญ้าลิเพา
5. การค้าและบริการ มีการค้าขายแถบชายแดนไทยกับมาเลเซีย และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย

ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

1. ปัญหาดินพังทลายเนื่องจากฝนตกชุกและการทำเหมืองแร่
2. ปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
3. ปัญหาน้ำท่วม น้ำทะเลทะลักเข้าสู่สวนผลไม้
4. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า


ภูมิศาสตร์ภาคตะวันตก

ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคตะวันตก
     ภาคตะวันตกของประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 53,679 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ที่ตั้งและขอบเขตของภาค
     ทิศเหนือ มีดินแดนเหนือสุดของภาคอยู่ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
     ทิศตะวันออก มีดินแดนติดต่อกับสุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร สุโขทัย นครสวรรค์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม อ่าวไทย                   
                   ดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกสุดของภาคคืออำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
     ทิศตะวันตก มีดินแดนติดกับประเทศพม่า มีเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนธรรมชาติ
     ทิศใต้ ดินแดนที่อยู่ใต้สุดของภาคอยู่ที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันตก

     ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับหุบเขาที่ค่อนข้างชันและแคบกว่าหุบเขาของภาคเหนือ เนื่องจากการกัดเซาะของแม่น้ำลำธาร มีภูมิประเทศคล้ายภาคเหนือ แบ่งได้ดังนี้
     1. เขตเทือกเขา ได้แก่
           - เทือกเขาถนนธงชัย เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างไทยกับพม่า จากจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงตาก
           - เทือกเขาตะนาวศรี เป็นแนวแบ่งเขตไทยกับพม่า มีช่องทางติดต่อที่ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และด่านบ้องตี้ จังหวัดกาญจนบุรี
           - เทือกเขาหินปูน อยู่ระหว่างแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน มีถ้ำหินงอกหินย้อย
     2. เขตที่ราบ อยู่ระหว่างเขตเทือกเขากับที่ราบต่ำภาคกลางจนถึงอ่าวไทย เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง แม่น้ำแม่กลอง ที่ราบแม่น้ำเพชรบุรี และที่ราบชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดทรายสวยงาม เช่น หาดชะอำ หาดหังหินและอ่าวมะนาว
        

แม่น้ำที่สำคัญของภาคตะวันตก
       - แม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำแควใหญ่กับแควน้อย ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ไหลลงทะเลที่จังหวัดสมุทรสงคราม
       - แม่น้ำแควใหญ่ หรือแม่น้ำศรีสวัสดิ์ มีต้นน้ำอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ไหลไปรวมกับแม่น้ำแควน้อย
       - แม่น้ำแควน้อย หรือแม่น้ำไทรโยค มีต้นน้ำอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ไหลไปรวมกับแม่น้ำแควใหญ่
       - แม่น้ำเมย เป็นพรมแดนกั้นเขตแดนไทย-พม่า ต้นน้ำอยู่ที่ประเทศพม่า ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ที่แม่ฮ่องสอน
       - แม่น้ำเพชรบุรี เกิดจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลผ่านจังหวัดเพชรบุรี
       - แม่น้ำปราณบุรี ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันตก
       ภาคตะวันตกมีอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) คือมีอากาศร้อนชื้นสลับกับฤดูแล้ง มีฝนตกน้อยกว่าภาคอื่น เนื่องจากมีภูเขาสูงกั้นจึงเป็นพื้นที่อับฝน และอุณหภูมิในฤดูร้อนจะร้อนจัด ถ้าฤดูหนาวจะหนาวจัด กลางวันอุณหภูมิสูงและกลางคืนอุณหภูมิจะต่ำมาก ทำให้เกิดความแตกต่างกันมากเนื่องจากอยู่ในหุบเขา จังหวัดที่มีฝนตกน้อยที่สุดคือ จังหวัดตาก และจังหวัดที่มีฝนตกมากที่สุดคือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปัจจัยควบคุมอุณหภูมิภาคตะวันตก
     1. ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกและอากาศหนาวเย็น
     2. การวางตัวของเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตะนาวศรีในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศของภาคตะวันตก คือ อากาศร้อนอบอ้าว และจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรีเป็นเขตที่อับลมฝน
     3. ได้รับอิทธิพลจากลมพายุดีเปรสชันทะเลจีนใต้ ทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
     4. ลมพายุดีเปรสชันจากอ่าวเบงกอล ที่พัดผ่านเข้าสู่ประเทศพม่าและภาคตะวันตกของไทย เมื่อปะทะกับแนวเทือกเขาแต่ไม่มีบ่อยครั้ง

ทรัพยากรธรรมชาติในภาคตะวันตก
1. ทรัพยากรดิน
ภาคตะวันตกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตภูเขาสูงและมีความลาดชัน ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำไม่เหมาะในการเพาะปลูก หรือมีสภาพเป็นดินทราย หรือดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินที่เป็นกรด
2. ทรัพยากรน้ำ
ภาคตะวันตกมีน้ำน้อย เพราะอยู่ในเขตอับฝน แม่น้ำเป็นสายสั้น ๆ และมีเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก , เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี , เขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี , เขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี , เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี
3. ทรัพยากรป่าไม้
ภาคตะวันตกมีพื้นที่ป่าไม้มากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ จังหวัดที่มีป่าไม้มากที่สุดคือ กาญจนบุรีและตาก
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคตะวันตกมีแร่ธาตุหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ ดีบุก ทังสเตน เหล็ก ฟลูออไรด์ ฟอสเฟต หินอ่อน แร่รัตนชาติมีพลอย ไพลินที่กาญจนบุรี หินน้ำมัน อยู่บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ประชากรในภาคตะวันตก
      
ภาค ตะวันตกเป็นภาคที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด และเบาบางที่สุด มีชนกลุ่มน้อยพวกมอญ กะเหรี่ยง พม่าอาศัยอยู่ทุกพื้นที่เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด และมีความหนาแน่นมากที่สุดคือ ราชบุรี ส่วนจังหวัดที่มีประชากรต่ำที่สุดและมีความหนาแน่นเบาบางที่สุดคือ จังหวัดตาก

ปัญหาประชากรในภาคตะวันตก
1. ปัญหาเกี่ยวกับความยากจนของประชาชน
2. ปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยขาดแคลนที่อยู่อาศัยและขาดพื้นที่การเพาะปลูก

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1. การเพาะปลูก การปลูกพืชไร่ ได้แก่ อ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง ปลูกมากที่จังหวัดกาญจนบุรี
2. การเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นการค้าและอาหาร
3. การทำป่าไม้ เคยมีป่าไม้มาก ปัจจุบันทำการค้าโดยสั่งซื้อจากประเทศพม่า
4. การประมง มีการทำประมงน้ำเค็มและน้ำกร่อย
5. การทำเหมืองแร่ ได้แก่ แร่ดีบุก วุลแฟรม ทังสเตน
6. อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ผลิตน้ำตาล การปั้นโอ่งที่ราชบุรี และการท่องเที่ยว


ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

1. ปัญหาการพังทลายของดิน และดินเสื่อมคุณภาพ
2. ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำเน่าเสียในแม่น้ำแม่กลอง
3. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำการค้า และธุรกิจ

ภูมิศาสตร์ภาคตะวัออก

ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคตะวันออก
      ภาคตะวันออกมีเนื้อที่ประมาณ 34,380 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

ที่ตั้งและขอบเขตภาคตะวันออก

     ทิศเหนือ ติดต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินแดนที่อยู่เหนือสุดคือ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
     ทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชา ดินแดนที่อยู่ตะวันออกสุดคือ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
     ทิศตะวันตก ติดต่อกับกรุงเทพฯ สมุทรปราการ อ่าวไทย ดินแดนที่อยู่ตะวันตกสุดคือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
     ทิศใต้ ติดต่อกับอ่าวไทย ดินแดนใต้สุดคือ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด

ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันออก
     ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปจะเป็นทิวเขา ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบชายฝั่งทะเล
         - เขตภูเขา ได้แก่ ทิวเขาจันทบุรี ตั้งอยู่ตอนกลางของภาค วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาสอยดาวใต้                            และทิวเขาบรรทัด วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มียอดเขาสูงสุดคือ เขาตะแบงใหญ่ เป็นภูเขาที่กั้นพรมแดนไทยกับกัมพูชา
         - เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอยู่ทางตอนเหนือของภาค อยู่ระหว่างเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาจันทบุรี
         - เขตที่ราบชายฝั่งทะเล ตั้งแต่เทือกเขาจันทบุรีไปจนถึงอ่าวไทยเป็นที่ราบชายฝั่งแคบ ๆ ที่มีภูมิประเทศสวยงาม และมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน

      ภาคตะวันออกมีพรมแดนติดต่อกับกัมพูชาที่จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด มีสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดที่จังหวัดจันทบุรี และตราดเป็นพรมแดนธรรมชาติ และมีพรมแดนเรขาคณิต คือ พรมแดนที่กำหนดขึ้นเป็นเส้นตรงลากเชื่อมจุดต่าง ๆ เรียกพื้นที่นี้วฉนวนไทย
คือ พรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรีต่อกับที่ราบต่ำเขมร มักจะมีปัญหาเรื่องการล่วงล้ำดินแดนอยู่เสมอ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน


แม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออก
     1. แม่น้ำบางปะกง หรือแม่น้ำปราจีนบุรี เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในภาคตะวันออก มีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาจันทบุรี และไหลลงทะเลที่อำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา
     2. แม่น้ำระยอง มีต้นกำเนิดที่จังหวัดชลบุรี ไหลลงทะเลที่จังหวัดระยอง
     3. แม่น้ำเวฬุ มีต้นกำเนิดที่เทือกเขาจันทบุรี และไหลลงทะเลที่จังหวัดจันทบุร ี
     4. แม่น้ำจันทบุรี

ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 515 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศที่สวยงาม เช่น
     - อ่าว ได้แก่ อ่าวอุดม อ่าวสัตหีบ อ่าวระยอง
     -แหลม ได้แก่ แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี แหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด
     - เกาะ ได้แก่ เกาะช้างที่จังหวัดตราด เกาะกูดที่จังหวัดตราด เกาะสีชังที่จังหวัดชลบุรี เกาะเสม็ดที่จังหวัดระยอง


ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออก
     ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออกคล้ายคลึงกับภาคใต้ คือ
-ทางตอนบนของภาคจากปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราจะมีลักษณะอากาศแบบสะวันนา (Aw)
-ส่วนทางตอนล่างคือจันทบุรีและตราด จะมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้นแบบมรสุม (Am) คือ มีฝนตกชุก อากาศร้อนชื้น
จังหวัดที่มีปริมาณฝนมากที่สุดคือ ตราด และจังหวัดที่มีฝนตกน้อยที่สุดคือ ชลบุรี


ปัจจัยที่ควบคุมอุณหภูมิของภาคตะวันออก
    1. ลมพายุ ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันจากทะเลจีนใต้ทำให้เกิดฝนตกหนัก
    2. ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากอ่าวไทย ทำให้เกิดฝนตกในภาคนี้
ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือไม่ค่อยมีผลต่อภาคตะวันออกมากนัก เนื่องจากมีทิวเขาสันกำแพงและพนมดงรักเป็นแนวกั้นไว้ อากาศจึงไม่ค่อยหนาวเย็น
    3. การวางตัวของแนวเทือกเขาจันทบุรีและเทือกเขาบรรทัดจะกั้นทิศทางของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ฝนตกชุกในเขตจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด
    4. ระยะใกล้ไกลทะเล ทางตอนบนของภาคอยู่ห่างจากทะเลมีผลทำให้อากาศร้อน อุณหภูมิสูง ส่วนทางตอนล่างของภาคจะได้รับลมทะเลทำให้อากาศเย็นสบาย


ทรัพยากรธรรมชาติของภาคตะวันออก
1. ทรัพยากรดิน
ดินส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเป็นดินปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่อุดมสมบูรณ์ บริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึงจะเป็นดินโคลนหรือดินเหนียว ส่วนดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินบะซอลต์ หินปูนในบริเวณที่สูงเหมาะแก่การปลูกพืชสวน เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมีดินอัลลูเวียนที่เหมาะใช้ทำนา
2. ทรัพยากรน้ำ
ภาคตะวันออกมีฝนตกชุกยาวนานและมีแม่น้ำสายสั้น ๆ หลายสายค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีการขาดแคลนน้ำจืดในเขตอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยว เช่น จังหวัดชลบุรี
3. ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกจะเป็นป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าชายเลน และป่าเบญจพรรณ จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคือ จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนจังหวัดที่มีป่าไม้น้อยที่สุดคือ จังหวัดชลบุรี
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคตะวันออกมีแร่หลายชนิด ได้แก่
       - เหล็ก พบที่จังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
       - พลวง พบที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี
       - แร่รัตนชาติ เช่น คอรันตัม(พลอยสีน้ำเงิน,ไพลิน) บุษราคัม พบมากที่จังหวัดจันทบุรี และตราด ,ทับทิม พบที่จังหวัดตราด
       - แร่เชื้อเพลิง พบที่บริเวณอ่าวไทย บริเวณมาบตาพุดจังหวัดระยอง


ประชากรในภาคตะวันออก
ประชากรในภาคตะวันออกมีจำนวนประชากรน้อยรองจากภาคตะวันตก จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด และมีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดคือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ ตราด และจังหวัดที่มีความหนาแน่นประชากรเบาบางที่สุดคือ จังหวัดสระแก้ว


ปัญหาของประชากรในภาค
    1. ปัญหาการอพยพของชาวกัมพูชา
    2. ปัญหาการล่วงล้ำอธิปไตยและความปลอดภัยของประชากรตามแนวชายแดน


กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1. การเพาะปลูก ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ จะทำนาส่วนใหญ่พืชผลที่สำคัญได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ขนุน เป็นต้น
2. การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ เป็ด
3. การประมง มีการทำประมงน้ำเค็มบริเวณชายฝั่งที่ติดทะเล เช่น ชลบุรี ระยอง ส่วนประมงน้ำจืดที่จังหวัดปราจีนบุรี
4. การทำเหมืองแร่ แร่รัตนชาติที่จังหวัดจันทบุรี และตราด
5. อุตสาหกรรม มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรม เช่น
       - **แหลมฉบัง เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหนัก
       -** สัตหีบ เป็นอุตสาหกรรมการต่อเรือ ขนถ่ายสินค้าทางเรือ

ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
1. ปัญหาการพังทลายของดิน และดินเสื่อมคุณภาพ รวมถึงกรรมสิทธิในที่ดิน
2. ปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การขาดแคลนน้ำจืด และน้ำเค็มรุกเข้าสวนผลไม้
3. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้ในการเกษตร

เขตภูมิศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
       ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร เป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างมากที่สุด
ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย นครพนม อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ บึงกาฬ


แผนที่ เพิ่มจังหวัดบึงกาฬ

ที่ตั้งและขอบเขตของภาค
      ทิศเหนือ   ติดกับประเทศลาว ดินแดนที่อยู่เหนือสุดคือ จังหวัดบึงกาฬ มีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ
      ทิศตะวันออก  ติดต่อกับประเทศลาว ดินแดนที่อยู่ตะวันออกสุดคือ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ 


      ทิศตะวันตก   ติดต่อภาคกลาง ดินแดนที่อยู่ตะวันตกสุดคือ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย มีเทือกเขาเพชรบูรณ์และดงพญาเย็นเป็นพรมแดนกั้นเขตแดน
      ทิศใต้   ติดต่อกับประเทศกัมพูชาและภาคตะวันออก ดินแดนที่อยู่ใต้สุดคือ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีภูเขาพนมดงรักและสันกำแพงเป็นพรมแดนกั้นเขตแดน

ลักษณะภูมิประเทศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
      ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงเกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน 2 ด้าน คือ ด้านตะวันตกและด้านใต้ของภาค ทำให้มีความลาดเอียงไปทางตะวันออก มีลักษณะคล้ายกะทะ แบ่งเป็น 2 เขตใหญ่ ได้แก่


  1. บริเวณแอ่งที่ราบ 

 
      - แอ่งที่ราบโคราช เกิดขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและชี ลักษณะเป็นที่ราบสูงสลับกับเนินเขา
      - แอ่งสกลนคร อยู่ทางตอนเหนือของภาคตั้งแต่แนวเขาภูพานไปจนถึงแม่น้ำโขง มีแม่น้ำสงครามและห้วยน้ำก่ำไหลผ่าน
   2. บริเวณเขตภูเขา
      - ภูเขาทางด้านตะวันตกของภาค วางตัวแนวเหนือ-ใต้ ได้แก่ ภูเขาเพชรบูรณ์ และภูเขาดงพญาเย็น 

เทือกเขาเพชรบูรณ์

      - ภูเขาทางตอนใต้ของภาค ได้แก่ ภูเขาสันกำแพง ภูเขาพนมดงรัก 

เทือกเขาพนมดงรัก
      - ภูเขาที่แบ่งระหว่างแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร ได้แก่ทิวเขาภูพาน 



เทือกเขาภูพาน
แม่น้ำที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   1. แม่น้ำมูล มีความยาวประมาณ 641 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายสำคัญของอีสานตอนล่าง ต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกำแพง แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี 


แม่น้ำมูล ที่ จ.อุบลราชธานี
   2. แม่น้ำชี มีความยาวประมาณ 765 กิโลเมตร ***เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในประเทศไทย **มีต้นกำเนิดที่ทิวเขาเพชรบูรณ์ และไหลไปรวมกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี 
 แม่น้ำชี

ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     
ลักษณะภูมิอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) คือ  มีอากาศร้อนชื้นสลับกับฤดูแล้ง มีฝนตกปานกลาง
- ฤดูหนาว ช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอุณหภูมิต่ำสุด ได้แก่จังหวัดเลย
- ฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากจากพายุดีเปรสชัน จังหวัดที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดคือ นครพนม และจังหวัดที่มีฝนตกน้อยที่สุดคือ นครราชสีมา
- ฤดูร้อน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม อากาศจะร้อนและแห้งแล้งมาก เพราะอยู่ไกลจากทะเล จังหวัดที่ มีอุณหภูมิสูงสุดคือ อุดรธานี

ปัจจัยที่ควบคุมอุณหภูมิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    1. ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผลทำให้มีอากาศหนาวเย็นกว่าภาคอื่น ๆ
    2. ลมพายุหมุน ส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชันจากทะเลจีนใต้จังทำให้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง
    3. ระยะใกล้ไกลทะเล จะทำให้อากาศมีความแตกต่างกันระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวมาก เนื่องจากไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล
    4. การวางตัวของภูเขาดงพญาเย็นและสันกำแพง ซึ่งวางตัวในแนวเหนือ-ใต้กั้นลมฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ทรัพยากรธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. ทรัพยากรดิน ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินทรายและขาดธาตุอาหาร ใต้ดินมีเกลือหินทำให้ดินเค็มและแห้ง ไม่เหมาะในการเพาะปลูกพืช และทำนา 


 2. ทรัพยากรน้ำ เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินปนทรายไม่สามารถอุ้มน้ำได้ จึงทำให้ขาดแคลนน้ำเป็นสำคัญ จึงต้องอาศัยการชลประทานเข้ามาช่วยมีการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำ
เขื่อนสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
- เขื่อนสิรินธร อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี
- เขื่อนจุฬาภรณ์ อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ
- เขื่อนอุบลรัตน์ อยู่ในจังหวัดขอนแก่น
- เขื่อนลำปาว อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์
- เขื่อนลำตะคอง อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา
- เขื่อนลำพระเพลิง อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา
เขื่อนสิรินธร กั้นแม่น้ำลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

3. ทรัพยากรป่าไม้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีป่าไม้เหลือน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไม้ประเภทป่าแดง ป่าโคก ป่าแพะ หรือป่าเต็งรัง ถัดมาเป็นป่าเบญจพรรณและป่าทุ่ง เมื่อเทียบกับพื้นที่ภาคจังหวัดที่มีป่าไม้มากที่สุดคือ อุบลราชธานี และจังหวัดที่มีป่าไม้น้อยที่สุดคือ มหาสารคาม
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแร่ธาตุน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ แต่เป็นภาคที่มีเกลือหินมากที่สุด แร่ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่
- เหล็ก พบที่จังหวัดเลย
- แมงกานีส พบที่จังหวัดเลย
- ทองแดง พบที่จังหวัดเลย และหนองคาย
- เกลือหิน พบมากที่สุดที่จังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และยโสธร
- โปแตช พบที่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี
- ยิปซัม พบที่จังหวัดเลย
- ก๊าซธรรมชาติพบที่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น


ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

       **ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศ**
จังหวัดที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สกลนคร จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ มุกดาหาร ส่วนจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดคือ มหาสารคาม และมีความหนาแน่นเบาบางที่สุดคือจังหวัดเลย

ปัญหาประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. ปัญหาความยากจน เนื่องจากประชากรมีมาตรฐานการครองชีพต่ำมาก ทรัพยากรไม่อุดมสมบูรณ์
2. ปัญหาการอพยพย้ายถิ่น
3. เกิดการว่างงานสูง


กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
1. การเพาะปลูก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำการเพาะปลูกมากที่สุด แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำสุด เนื่องจากดินไม่อุดมสมบูรณ์ เช่น การปลูกข้าว พืชไร่ที่สำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปอ ฝ้าย
2. การเลี้ยงสัตว์ เป็นภาคที่มีการเลี้ยงโค กระบือมากที่สุด เพราะมีอากาศและทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์
3. อุตสาหกรรม ในภาคนี้มีอุตสาหกรรมที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น โรงสี โรงงานน้ำตาล โรงทอ ฯลฯ    และยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
4. เกลือสินเธาว์ มีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา


ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. เกิดปัญหาดินเค็ม ขาดความอุดมสมบูรณ์
2. ขาดแคลนน้ำมากที่สุด เนื่องจากดินเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำ
3. การบุกรุกป่าไม้ของประชากรเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการเพาะปลูก หรือเพื่อการค้า 


แบบทดสอบ
 ตอนที่ 1
1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งหมด................จังหวัด   จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือ..........................
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแอ่งที่ราบอยู่ 2 แอ่ง คือ..........................................................
ลุ่มแม่น้ำชีและลุ่มแม่น้ำมูลอยู่แอ่งที่ราบ.......................................
3.ในช่วงฤดูหนาวจังหวัดที่หนาวเย็นมีอุณหภูมิต่ำสุดคือจังหวัด.............................................
4.ป่าไม้ที่พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตือป่า..............................................
5.ทรัพยากรแร่ชนิดที่พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตือ
6.เทือกเขาที่เป็นพรมแดนระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ.......................
7. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำการเพาะปลูกมากที่สุด แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำสุด เป็นเพราะ.................................................................................................
แบบทดสอบความรู้ออนไลน์

ตอนที่ 2
1. โครง สร้างทางธรณีวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงหนือเป็น "หมู่หินโคราช" ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นหินประเภทใด และมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคนี้อย่างไร
หินทราย / ดินร่วนปนทราย
หินปูน / ดินตะกอนน้ำพา
หินเกลือ / ดินเป็นกรด
หินดินดาน / ดินเค็ม
2. เขตภูมิลักษณ์ที่เป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือข้อใด
แอ่งสกลนคร
แอ่งโคราช
ที่ราบสูงโคราช
แอ่งลำปาว

3. ข้อใด เป็นลักษณะภูมิประเทศบริเวณแอ่งโคราชที่เรียกว่า "ทะเลสาปรูปแอก" หรือบึงโค้งซึ่งเกิดจาก แม่น้ำไหลคดเคี้ยว โค้งตวัด หรือลัดทางเดิน จึงมีลักษณะเป็นหนอง บึงขนาดเล็กทั่วไป
ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
หนองหาน จังหวัดสกลนคร
ปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี
กุดน้ำใส จังหวัดอุบลราชธานี

4. ข้อใด เป็นลักษณะพิเศษของภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งเกิดจาการกัดเซาะของน้ำ
ภูเขาโคดที่เกิดจากลาวาภูเขาไฟ
ภูเขาหินแกนิตยอดแหลมไม่สึกกร่อน
ภูเขายอดตัดหรือยอดป้านแบนราบคล้ายโต๊ะ
ด้านหนึ่งลาดเทเอียงด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน

5. ข้อใด ไม่ใช่ ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพื้นที่ "ทุ่งกุลาร้องไห้" ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำรูปแอ่งกระทะหงาย ครอบครุมพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง
เป็นเขตป่าดิบเขาแหล่งต้นน้ำลำธาร
น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมในฤดูฝน
พื้นที่ชลประธานปลูกข้าวหอมมะลิได้ดี
ฤดูแล้งจะแห้งแล้งกันดารขาดแคลนน้ำ

6. ข้อสันนิษฐานของนักธรณีวิทยาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือมีการสะสมตัวของแร่หินเกลือจำนวนมาก คือข้อใด
การยุบจมเป็นทะเลตื้นมีน้ำทะเลท่วมขังในอดีตกาล
เกิดภาวะโลกร้อนในอดีตทำให้ระดับน้ำทะเท่วมสูง
การไหลของน้ำใต้ดินทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม
การเคลื่อนไหวบีบอัดดันแร่หินเกลือขึ้นมาจากใจกลางเปลือกโลก

7. บริเวณขอบของที่ราบสูงโคราชเรียกว่า "ผาชัน" หรือ "ผาตั้ง" ทางด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึงข้อใด
เทือกเขาภูพาน
เทือกเขาสันกำแพง
เทือกเขาพนมดงรัก
เทือกเขาพชรบูรณ์และดงพยาเย็น

8. ภูมิลักษณ์แบบใดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดจากการกระทำของน้ำใต้ดินชะละลายแร่หินเกลือใต้ดินให้ย่อยสลายจนทำให้ดิน ยุบตัวหรือปูดโปนขึ้นมาเป็นเนิน
ภูมิลักษณ์แบบที่ราบน้ำท่วมถึง
ภูมิลักษณ์แบบโคกสลับแอ่ง
ภูมิลักษณ์แบบทะเลสาบรูปแอก
ภูมิลักษณ์แบบแอ่งก้นกระทะหงาย

9. ลักณะภูมิประเทศที่โดดเด่นและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของ"แอ่งโคราช" คือข้อใด
ทุ่งกุลาร้องไห้
ที่ราบลุ่มแม่น้ำสงคราม
ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ชี และสาขา
แอ่งที่ราบสลับกับภูเขาเตี้ย ๆ

10. แหล่งหินแกรนิตในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ของจังหวัดเลยมีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยาอย่างไร
แหล่งแร่ที่สำคัญหลายชนิด
แหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์แปลกตา
เกิดการสึกกร่อนได้งายจนเกิดเทือกเขายอดตัด
ซากดึกดำบรรพ์(Fossil) ของสัตว์โลกล้านปี


ผลคะแนน =
เฉลยคำตอบ:

ภูมิศาสตร์ภาคกลาง

ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคกลาง

      ภาคกลางมีพื้นที่ประมาณ 92,795 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 22 จังหวัด แบ่งออกเป็น
--ภาคกลางตอนบน มี 7 จังหวัด   ได้แก่  นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี
--ภาคกลางตอนล่าง มี 15 จังหวัด ได้แก่  สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม                                      สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ
 
ที่ตั้งและขอบเขตภาคกลาง
     ทิศเหนือ ดินแดนที่อยู่เหนือสุดของภาคคือ จังหวัดสุโขทัย
     ทิศตะวันออก ดินแดนที่อยู่ตะวันออกสุดของภาค คือ จังหวัดเพชรบูรณ์
     ทิศตะวันตก ดินแดนที่อยู่ตะวันตกสุดของภาคคือ จังหวัดกำแพงเพชร
     ทิศใต้ ดินแดนที่อยู่ใต้สุดของภาค คือ จังหวัดสมุทรสงคราม

ลักษณะภูมิประเทศภาคกลาง
เขตที่ราบ
       - เขตที่ราบภาคกลางตอนบน เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลูกฟูก (เนินเขาสลับกับที่ราบ)
       - เขตที่ราบภาคกลางตอนล่าง เป็นที่ราบกว้างที่เกิดจากการทับถมของตะกอน และเกิดเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา
       - เขตที่ราบทางตะวันออกและตะวันตก เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำสลับกับลูกฟูก มีภูเขาที่ไม่สูงกระจายอยู่ทั่วไป
แม่น้ำสายสำคัญของภาคกลาง
       1. แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากจังหวัดนครสวรรค์ไหลลงสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ และมีแม่น้ำสายเล็ก ๆ ที่เป็นสาขาคือ แม่น้ำมะขามเฒ่า(แม่น้ำลพบุรี)  แม่น้ำน้อย(สุพรรณบุรี) และแม่น้ำนครชัยศรี(ท่าจีน)
       2. แม่น้ำป่าสัก เริ่มจากจังหวัดเลย ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
       3. แม่น้ำสะแกกรัง เริ่มต้นจากนครสวรรค์และกำแพงเพชร ไหลมาบรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอุทัยธานี
คลองที่สำคัญในภาคกลาง
       1. คลองรังสิต เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายก
       2. คลองบางบัวทอง เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครชัยศรี
       3. คลองภาษีเจริญ เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับคลองบางกอกน้อย
       4. คลองแสนแสบ,คลองพระโขนง และคลองสำโรง เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง
       5. คลองดำเนินสะดวก เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง

***ภาคกลางมีแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคคือ บึงบอระเพ็ด    อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ และบึงสีไพ จังหวัดพิจิตร

ลักษณะภูมิอากาศของภาคกลาง
       ภาคกลางมีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน (Aw) คือมีฝนตกปานกลาง และสลับกับฤดูแล้ง บริเวณภาคกลางตอนล่างจะมีอากาศชุ่มชื้นมากว่าเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลมากกว่าภาคกลางตอนบน

ปัจจัยที่ควบคุมอุณหภูมิของภาคกลาง
     1. ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่นำความชุ่มชื้นมาสู่ภาคกลาง
     2. มีการวางตัวของแนวภูเขาตะนาวศรี และภูเขาถนนธงชัยในลักษณะเหนือ-ใต้ ทำให้ส่วนที่เป็นหลังเขามีฝนตกน้อย
     3. ความใกล้ไกลทะเลทำให้อุณหภูมิของอากาศแตกต่างกันมากระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาว
-ภาคกลางมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27-28 องศาเซลเซียส ซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน
-ปริมาณน้ำฝนของภาคเฉลี่ยประมาณ 1,375 มิลลิเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอับฝน
-ฝนตกมากสุดในเดือนกันยายน จังหวัดที่มีปริมาณฝนมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีปริมาณฝนน้อยที่สุดคือ นครสวรรค์


ทรัพยากรธรรมชาติในภาคกลาง

         1. ทรัพยากรดิน
ภาคกลางตอนบนเป็นดินตะกอนเก่าไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกเนื่องจากเกิดการจับตัวแข็งในช่วงฤดูแล้ง ดินที่เหมาะในการเพาะปลูกควรเป็นดินเหนียวท่าจีน ดินเหนียวลพบุรี ดินเหนียวองครักษ์ ดินร่วนกำแพงแสน และดินเหนียวดำกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่น้ำพัดพามารวมกันเป็นที่ราบขนาดใหญ่ของภาคกลาง  ส่วนดินบริเวณที่ราบเนินภูเขาจะ เกิดจากการสลายตัวของหินปูนและหินอัคนี เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะม่วง ขนุน เป็นต้น
         2. ทรัพยากรน้ำ
ประกอบแม่น้ำและลำคลองมากมากจึงเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ ประกอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และมีการสร้างเขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนป่าสัก จังหวัดลพบุรี
        3. ทรัพยากรป่าไม้
ภาคกลางมีพื้นที่ของป่าไม้น้อยมาก ส่วนใหญ่พบในภาคกลางตอนบนเป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
จังหวัดอุทัยธานีจะมีป่าไม้เหลืออยู่มากที่สุด ประมาณ 2,620 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้งส่วนจังหวัดอื่น ๆ ไม่มีพื้นที่ป่าไม่เหลืออยู่เลย
        4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคกลางมีแร่ธาตุไม่มากนัก เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ แร่ที่สำคัญคือ แร่โลหะ ได้แก่ ดีบุก เหล็ก แมงกานีส ตะกั่ว ทองคำ แร่อโลหะ ได้แก่ ยิปซัม หินอ่อน ดินมาร์ล หินปูน แร่เชื่อเพลิง พบ**น้ำมันดิบที่ลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร


ประชากรในภาคกลาง
      ภาคกลางมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
*กรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดและหนาแน่นมากที่สุด
*จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดอุทัยธานีจะมีความหนาแน่นของประชากรเบาบางที่สุด


กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคกลาง

1. การเพาะปลูก ประชากรในภาคกลางมีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก เพราะอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์และเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ    ส่วนการปลูกพืชไร่จะปลูกบริเวณจังหวัดลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม
2. การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เช่น สุกร เป็ด ไก่
3. การประมง มีการทำประมงน้ำจืดมากที่สุด ส่วนประมงน้ำเค็มและน้ำกร่อยจะอยู่บริเวณจังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล
4. อุตสาหกรรม เป็นภาคที่มีการทำอุตสาหกรรมมากที่สุด เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ประกอบรถยนต์ โรงงานปูนซิเมนต์    ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล
5. การค้าและบริการ เป็นอาชีพที่มีมากที่สุด มีทั้งการค้าภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการบริการด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การธนาคาร การแพทย์ เป็นต้น


วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิศาสตร์ภาคเหนือ

ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคเหนือ
ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคเหนือ
      ภาคเหนือมีเนื้อที่ประมาณ 93,691 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ 

 
ที่ตั้งและขอบเขตภาคเหนือ
     ทิศเหนือ ดินแดนที่อยู่เหนือสุดของภาคคือ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าและลาว มีเทือกเขาแดนลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำรวกกั้นเขตแดน 

ท่าขี้เหล็ก (เหนือสุดในสยาม) อ.แม่สาย จ.เชียงราย    
 ทิศตะวันออก ดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกสุดของภาคคือ อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว มีเทือกเขาหลวงพระบางกั้นเขตแดน
     ทิศตะวันตก ดินแดนที่อยู่ทางตะวันตกสุดของภาคคืออำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า มีแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินกั้นเขตแดน
     ทิศใต้ ดินแดนที่อยู่ทางตอนใต้สุดของภาคคือ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์


ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือ
     1. เขตทิวเขา ประกอบด้วย
           - ทิวเขาแดนลาว เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า
           - ทิวเขาถนนธงชัย เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า มียอดเขาที่สูงสุดของประเทศไทยคือ ดอยอินทนนท์สูง 2,565 เมตร


           - ทิวเขาผีปันน้ำ ประกอบด้วยทิวเขาจอมทอง ขุนตาล ที่ปันน้ำลง 2 ทาง คือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำเจ้าพระยา
             โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้
           - ทิวเขาหลวงพระบาง เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับลาว
     2. เขตที่ราบหุบเขา มีลักษณะเป็นที่ราบแคบ ๆ อยู่ระหว่างแนวเทือกเขาและหุบเขา มีแม่น้ำไหลผ่านมีดินอุดมสมบูรณ์
     3. เขตแอ่งที่ราบ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญของชุมชนทางภาคเหนือ
แม่น้ำสำคัญของภาคเหนือ
     1. กลุ่มแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ได้แก่ แม่น้ำรวก แม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำอิง
    2. กลุ่มแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน
    3. กลุ่มแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ได้แก่ แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำปาย 

 


  สบรวก - สามเหลี่ยมทองคำ
       ตรงจุดบรรจบของลำน้ำรวกและแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำรวกจากพม่าไหลลงสู่แม่น้ำโขง ก่อนแม่น้ำทั้งสองจะบรรจบกัน ลำน้ำได้ขนาบแผ่นดินของประเทศพม่าให้แคบลงๆ จนกลายเป็นแหลมเล็กๆ บริเวณนี้จึงเป็นจุดที่แผ่นดินของสามประเทศมาพบกัน คือ ไทย พม่า และลาว เรียกชื่อกันว่าสบรวก เป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีอากาศดีเพราะเป็นที่โล่งกว้างสามารถมองเห็นแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวก ซึ่งมีสีแตกต่างกันอย่างชัดเจน
 
ลักษณะภูมิอากาศของภาคเหนือ
     ภูมิอากาศของภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นแบบสะวันนา (Aw) คือ อากาศร้อนชื้นสลับกับฤดูแล้ง
อุณหภูมิเฉลี่ยประจำปีอยู่ระหว่าง 24 -27 องศาเซลเซียส มีฤดู 3 ฤดู คือ ฤดูฝน (พ.ค.- ต.ค.) ฤดูหนาว (ต.ค. - ก.พ.)ฤดูร้อน (ก.พ. - พ.ค.) จังหวัดที่มีอุณหภูมิต่ำสุด คือ เชียงราย จังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดคือ อุตรดิตถ์ จังหวัดที่มีสถิติฝนตกหนักคือ เชียงราย และมีสถิติฝนตกน้อยที่สุดคือ ลำปาง
     ปัจจัยควบคุมอุณหภูมิในภาคเหนือ
         1. ละติจูด ตั้งอยู่ในละติจูดสูง สภาพอากาศหนาวเย็นกว่าภาคอื่น
         2. ความสูงของพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีเทือกเขาสูง มีอากาศหนาวเย็นมากโดยเฉพาะในฤดูหนาว
         3. ระยะไกลจากทะเล ตั้งอยู่ไกลจากทะเล ทำให้ร้อนอบอ้าวและมีฝนตกน้อยในฤดูร้อน
         4. ทิศทางลมประจำ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และดีเปรสชันจากทะเลจีนใต้ ทำให้ฝนตกมาก และรับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนทำให้มีอากาศหนาวเย็น


ทรัพยากรธรรมชาติในภาคเหนือ
     1. ทรัพยากรดิน จะมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง มีความลาดชันมากและมีการตัดไม้ทำลายป่า จึงก่อให้เกิดการชะล้างและพังทลายหน้าดินได้ง่าย
ดินที่พบตามลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ คือ ดินอัลลูเวียนเหมาะในการทำนา และดินลานตะพักลำน้ำ เหมาะในการปลูกพืชไร่
     2. ทรัพยากรน้ำ แม่น้ำในภาคเหนือเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ประกอบด้วยหลายสาย
และมีทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคคือ กว๊านพะเยา และมีการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทานขนาดเล็กจำนวนมากและใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น 




เขื่อนสิริกิตต์   
กั้นแม่น้ำน่าน เขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์



เขื่อนกิ่วลม   กั้นแม่น้ำวัง อยู่ในจังหวัดลำปาง   
เขื่อนแก่งเสือเต้น 
    อยู่จังหวัดแพร่ และ
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล    อยู่จังหวัด เชียงใหม่
      3. ทรัพยากรป่าไม้ ภาคเหนือเป็นภาคที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา ป่าสนเขาและป่าเบญจพรรณ จังหวัดที่มีเนื้อที่ป่าไม้มากที่สุดคือ เชียงใหม่ ส่วนจังหวัดที่มีเนื้อที่ป่าไม้น้อยที่สุดคือ ลำพูน
      4. ทรัพยากรแร่ธาตุ แร่ธาตุที่สำคัญของภาคเหนือมีหลายชนิด เนื่องจากโครงสร้างของหินเป็นหินยุคเก่า แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่
- แร่ดีบุก พบมากที่จังหวัดเชียงใหม่
- แร่ทังสเตนหรือวุลแฟรม พบมากที่จังหวัดเชียงราย
- แร่แมงกานีส พบมากที่จังหวัดลำพูน เชียงราย เชียงใหม่
- แร่ฟลูออไรต์ พบมากที่ลำพูน
- ดินขาว พบมากที่จังหวัดลำปาง
- แร่รัตนชาติ พบมากที่จังหวัดแพร่
- ปิโตรเลียม พบมากที่เชียงใหม่
- หินน้ำมัน พบมากที่ลำพูน
- ถ่านหิน พบมากที่ลำปาง ลำพูน 


 ถ่านหิน เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง

ประชากรในภาคเหนือ
     ประชากรในภาคเหนือมีมากเป็นอันดับ 4 รองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือ เชียงใหม่ จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดคือ จังหวัดลำพูน และมีประชากรเบาบางที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
      ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือประกอบด้วยเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ กระเหรียง ซึ่งมีมากที่สุด ม้ง ลีซอ มูเซอร์ และเย้า 


กะเหรี่ยง
มูเซอร์
 ลีซอ
เย้า
ปัญหาของประชากรในภาคเหนือ
1. ปัญหาความยากจน
2. ปัญหาการขาดการศึกษา
3. ปัญหายาเสพติด
4. ปัญหาโสเภณี


กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคเหนือ
1. เกษตรกรรม กิจกรรมที่ทำรายได้ต่อประชากรในภาคเหนือ ได้แก่ การทำสวน ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์
พืชผลที่สำคัญได้แก่ ข้าว ยาสูบ    กระเทียม ถั่วเหลือง เป็นต้น

ไร่สตรอเบอร์รี่

2. อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือนนิยมทำกันมากสุด เช่น ทำร่มกระดาษ แกะสลักไม้ จักสาน เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องเคลือบ ทอผ้า 

หัตถกรรม ร่มบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
3. อุตสาหกรรมโรงงาน เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบทางการเกษตรภายในท้องถิ่น เช่น โรงงานยาสูบ
โรงงานอาหารสำเร็จรูป
4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่องจากมีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี มีวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีและอนุรักษ์ไว้


ปัญหาของสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ
1. การตัดไม้ทำลายป่า
2. การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
3. การชะล้างพังทลายของดิน

แพะเมืองผี เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ
 สรุปประเด็นสำคัญ
1. อำเภอที่มีดินแดนอยู่เหนือสุดทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ อำเภอแม่สาย
2. แอ่งที่ราบที่ยาวและกว้างที่สุดทางภาคเหนือของไทย คือ แอ่งลำปาง
3. ลุ่มแม่น้ำรวกในภาคเหนือไหลลงสู่แม่น้ำโขง
4. แม่น้ำปิง เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านระหว่างเทือกเขาถนนธงชัยกับเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก
5. ยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาแดนลาว คือ ดอยผ้าห่มปก
6. ยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคเหนือของไทย คือ ยอดดอยอินทนน อยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย
7. เทือกเขาที่กั้นเขตแดนไทยกับประเทศพม่า คือ เทือกเขาแดนลาว และ เทือกเขาถนนธงชัยตะวันตก
8. จุดที่แม่น้ำรวกไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง เราเรียกว่า สบรวก ซึ่งเป็นจุดร่วมพรมแดน ไทย พม่า ลาว
9. แม่น้ำโขง กั้น ไทย กับ ลาว แม่น้ำรวก กั้น ไทย กับ พม่า
10. แม่น้ำน่าน นี่แรด-มาก ผ่านที่ราบหลายจังหวัดทั้ง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร
 แม่น้ำน่าน

11. แม่น้ำที่แบ่งว่า นี่ไทยนะ นี่พม่า นะ คือ แม่น้ำเมย นั่นเอง
12. มีแม่น้ำหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง คือ แม่น้ำรวก แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำสาย เป็นต้น
13. หินแกรนิต จัดอยู่ในหินอัคนี  ภูเขาส่วนใหญ่ของภาคเหนือเป็นหินแกรนิตนะจ๊ะ - - - จำไว้
14. แต่ก็มีนะที่เป็นภูเขาหินทราย เช่น เทือกเขาผีปันน้ำ นี่เป็นหินทราย
15.  แอ่งสลุง รู้จักมั้ย มันคือ ภูเขาในภาคเหนือที่เป็นหินปูนอ่ะ จะมีถ้ำ ที่เราเห็นๆอ่ะ คือจามี พวก
หินงอก หินย้อย น่านแหละเราเรียกว่า ถ้ำหินปูน พื้นที่บางแห่งหลังคาถ้ำจะยุบตัวลงมา กลายเป็น
หลุมยุบ  แต่คนภาคเหนือจะเรียกว่า แอ่งสลุง
หลุมยุบ
16. สามเลี่ยมทองคำ คือพื้นที่ที่เป็นจุดพบกันของ 3 ประเทศ คือ ไทย  ลาว  พม่า
17. ถ้าเราดูตามที่ตั้งของละติจูด ภาคเหนืออยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่นนะ ไม่ใช่ หนาว อย่าเข้าใจผิด
18. จังหวัดที่มีอุณหภูมิต่ำสุด = หนาว สุดๆ ของภาคเหนือ คือ เชียงราย เหนือสุด หนาวสุด จำไว้
19. ภาคเหนือเนี่ย กลางวัน ก็ร้อน กลางคืน ก็หนาว เพราะห่างไกลจากทะเล งัย
20. จังหวัดในภาคเหนือ ที่มีฝนตกน้อย ที่สุดเลยยยยย ก็คือ ลำพูน
21. ประชากรในภาคเหนือตั้งถิ่นฐานหนาแน่นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ  
22. ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือเนี่ย จะเป็นลักษณะของ เทือกเขาสูงๆสลับกับที่ราบหุบเขาแคบๆ
ซึ่งบริเวณที่ราบนั้นจะมีแม่น้ำไหลผ่าน
23. ภาคเหนือ จะมีป่าเบญจพรรณมากที่สุด  ซึ่งมีไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้สัก แต่เด๋วนี้ไม่ค่อยมีแระ
24. หินไนส์ เป็นหินแข็งๆที่แปรรูปมาจากหินแกรนิต พบมาก ตรงเทือกเขาแดนลาว ถนนธงชัย
25. ลุ่มแม่น้ำปิง นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของภาคเหนือ อุดมสมบูรณ์สุดๆๆ

แม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ 

แบบทดสอบ
ตอนที่ 1
1. ภาคเหนือมีทั้งหมด....................จังหวัด
2. ดอยอินทนนท์ อยู่บนเทือกเขา..................................
3. เทือกเขาแดนลาวกั้นพรมแดนระหว่าง ไทยกับ..............
4. แม่น้ำใดบ้างในภาคเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน........................................................
5. สบรวก  คือ.............................................................
6. กว๊านพะเยา คือ..............................................
7. จังหวัดในภาคเหนือที่มีพท้นที่ป่ามากที่สุด คือ............................
8. ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในภาคเหนือ คือ.................................
9. แพะเมืองผี คือ...............................................................................
10. ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบในภาคเหนือ มีอะไรบ้าง.........................................


1. ลักษณะภูมิประเทศใดของภาคเหนือจำแนกได้ 3 เขต โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เกีอบทั้งภาค
เขตภูเขาและเทือกเขา
เขตที่ราบและหุบเขา
เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ
เขตแอ่งที่ราบ
2. เขตที่ราบและหุบเขาของภาคเหนือ คือ บริเวณที่ราบแคบๆ ซึ่งอยู่ระหว่างขนานของเทือกเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีความสำคัญข้อใดมากที่สุด
เป็นที่ราบดินตะกอน
มีผู้คนตั้งถิ่นฐานหนาแน่น
เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์สวยงาม
เป็นแหล่งเพาะปลูกที่มีดินอุดมสมบูรณ์

3. ในเขตภูเขาหินปูนของภาคเหนือ จะพบหลังคาถ้ำยุบตัวลงกลายเป็นแอ่งบนพื้นดิน เรียกว่าอย่างไร
แพะเมืองผี
ฮ่อมจ๊อม
แอ่งสลุง
สันปันน้ำ

4. เทือกเขาของภาคเหนือที่วางตัวเป็นขอบกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าและไทยกับลาว คือเทือกเขาข้อใด
ถนนธงชัย / แดนลาว
แดนลาว / หลวงพระบาง
ถนนธงชัย / ผีปันน้ำ
ตะนาวศรี / หลวงพระบาง

5. เขตภูมิประเทศที่เป็นแหล่งที่ราบของภาคเหนือ มีลักษณะเป็นที่ราบต่ำล้อมรอบด้วยภูเขามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของ ภาคเหนือหลายประการ ยกเว้น ข้อใด ไม่ใช่
มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์อันกว้างใหญ่
เป็นที่ราบดินตะกอนอุดมสมบูรณ์
เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด
เป็นที่ตั้งชุมชนระดับอำเภอหรือจังหวัด

6. ข้อใด ไม่ใช่ ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของภาคเหนือ
เป็นหินเปลือกโลกมีอายุน้อย
มีชั้นหินเปลือกโลกสลับซับซ้อน
เกิดการบีบอัดยกตัวขี้นสูงจนเป็นปลือกเขา
มีการทรุดตัวเป็นแอ่งแผ่นดินขนาดใหญ่

7. ลักษณะภูมิประเทศแปลกตาที่เรียกว่า "ฮ่อมจ๊อม" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือเกิดจากการ การกระทำของตัวการทางธรรมชาติข้อใด
การกัดเซาะของฝนและลำธาร
การทรุดตัวของผนังถ้ำหินทราย
การทับถมของตะกอนที่แม่น้ำพัดพามา
การปริแตกจากแสงแดดและอุณหภูมิความร้อน

8. เขตภูมิลักษณ์ของภาคเหนือใด เป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่สำคัญของประเทศไทย
ดอยขุนตาล จังหวัดลำปาง
แอ่งแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
แอ่งพะเยา จังหวัดพะเยา
แอ่งแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

9. โครงสร้างทางธรณีวิทยาของเขตภูมิลักษณ์ืั่เป็นแหล่งที่ราบ มีกระบวนการเกิดข้อใด เป็นขั้นตอนสุดท้าย
การเคลื่อนไหวบีบอัดของเปลือกโลก
การทรุดตัวของเปลือกโลก
การกัดเซาะของธารน้ำแข็ง
การทับถมของโคลนตะกอน

10. เทือกเขาส่วนใหญ่ของภาคหนือวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีผลอย่างไรต่อลักษณะภูมิอากาศของภาคเหนือ
ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและหนาวเย็นในฤดูหนาว
ขวางกั้นทิศทางลมมรสุมฤดูฝนทำให้ได้รับฝนน้อย
ไม่ขวางกั้นทิศทางลมมรสุมและมวลอากาศที่พัดผ่าน
ได้รับอิทธิพลความชื้นจากทะเลทำให้ฤดูร้อนมีอากาศเย็นสบาย


Score =
Correct answers: