ยินดีต้อนรับสู่บล็อกภูมิศาสตร์ประเทศไทย

ยินดีต้อนรับนักเรียนทุกคนด้วยความยินดียิ่ง

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิศาสตร์ประเทศไทย


       การแบ่งเขตหรือภาคในทางภูมิศาสตร์ ทำให้เกิดความเข้าใจและสามารถศึกษาข้อเท็จจริงของแต่ละภูมิภาคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และรู้จักสภาพแวดล้อมของแต่ละภาค รวมทั้งปัญหาของแต่ละท้องถิ่น เพื่อวางแผนและพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในภาคต่าง ๆ นั้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

       ความเป็นมาของการแบ่งภาคภูมิศาสตร์ของไทย
             ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,115.06 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเชียและพม่า เดิมได้แบ่งภูมิภาคของประเทศไทยออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่ปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 6 ภาค ได้แก่
      1. ภาคเหนือ
      2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
      3. ภาคตะวันตก
      4. ภาคกลาง
      5. ภาคตะวันออก
      6. ภาคใต้

ลักษณะของประเทศไทย
        ประเทศไทยมีความยาววัดจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีความยาวประมาณ 1,620 กิโลเมตร
        ส่วนที่กว้างที่สุดของประเทศวัดจากด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขระ จังหวัดกาญจนบุรีถึงตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบุลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวประมาณ 750 กิโลเมตร
        ส่วนที่แคบสุดวัดจากตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวประมาณ 10.6 กิโลเมตร

อาณาเขตของประเทศไทย
    ทิศเหนือ ติดต่อกับประเทศพม่าและลาว มีทิวเขาแดนลาวและแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ
    ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา มีทิวเขาหลวงพระบาง พนมดงรัก และทิวเขาบรรทัด และแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ
    ทิศตะวันตก ติดต่อกับประเทศพม่า มีทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาตะนาวศรี แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย และแม่น้ำปากจั่นเป็นพรมแดนธรรมชาติ
    ทิศใต้ ติดต่อกับอ่าวไทยและประเทศมาเลเซีย มีแม่น้ำโกลก และทิวเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดนธรรมชาติ

ลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทย
     1. เขตภูเขาและหุบเขาภาคเหนือ
            ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา แนวเทือกเขาทอดตัวยาวในแนวเหนือ-ใต้
       เทือกเขาที่สำคัญได้แก่
       เทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาหลวงพระบาง และมีที่ราบหุบเขาลักษณะแคบ ๆ อยู่ระหว่างแนวเทือกเขา        เป็นบริเวณที่มีแม่น้ำไหลผ่านมีดินตะกอนอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก

     2. เขตที่ราบลุ่มภาคกลาง
             ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
        -ที่ราบตอนบนตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป จะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลูกฟูก มีภูเขาประปราย         -ที่ราบตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาถึงอ่าวไทยเป็นที่ราบดินดอนสามเหลี่ยม มีลักษณะดินเป็นตะกอนน้ำพา

     3. เขตเทือกเขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
             ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง รูปร่างคล้ายกระทะหงาย มีขอบทางด้านตะวันตกและด้านใต้ลาดลงทางด้านตะวันออก          เทือกเขาที่สำคัญได้แก่
         เทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง เทือกเขาภูพาน บริเวณตอนกลางของภาคเป็นแอ่ง เรียกว่าแอ่งโคราช

     4. เขตภูเขาและที่ราบภาคตะวันออก
              ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกฟูกสลับกับภูเขาและมีที่ราบชายฝั่งทะเล มีแม่น้ำสายสั้น ๆ

     5. เขตเทือกเขาภาคตะวันตก
              ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและหุบเขาที่ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีพื้นที่ราบแคบ ๆ
         เทือกเขาที่สำคัญได้แก่
         เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวยาวต่อเนื่องลงมา

     6. เขตคาบสมุทรภาคใต้
             ลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรยื่นลงไปในทะเล ขนาบด้วยทะเลทั้ง 2 ด้าน มีภูเขาทอดตัวแนวเหนือ-ใต้ มีแม่น้ำสายสั้นๆ และมีที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกกว้างกว่าที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก
จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
1. พรมแดนไทย-ลาว ติดต่อกับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อำนาจเจริญ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี
2. พรมแดนไทย-กัมพูชา ติดต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ได้แก่จังหวัด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สระแก้ว จันทบุรี ตราด
3. พรมแดนไทย-พม่า ติดต่อกับภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ได้แก่จังหวัด เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง
4. พรมแดนไทย-มาเลเซีย ติดต่อกับภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส

**สรุปข้อมูลสำคัญของประเทศไทย

1. ภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคที่มีพื้นที่น้อยที่สุดคือ ภาคตะวันออก
2. ภาคที่มีประชากรมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ ภาคตะวันตก
3. ภาคที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดคือ ภาคกลาง ภาคที่มีประชากรเบาบางที่สุดคือ ภาคตะวันตก
4. จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ ระนอง
5. จังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดที่มีประชากรเบาบางที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน
6. จังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดคือ นครราชสีมา จังหวัดที่มี พื้นที่น้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น