ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคใต้
ภาคใต้มีพื้นที่ประมาณ 70,715 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 14 จังหวัด แบ่งออกเป็น
- ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
- ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล
ขอบเขตและที่ตั้ง
ทิศเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดินแดนที่อยู่เหนือสุดของภาคคือ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก มีพื้นที่ติดต่อกับอ่าวไทย ดินแดนที่อยู่ตะวันออกสุดของภาคคือ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ทิศตะวันตก มีพื้นที่ติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนที่อยู่ตะวันตกสุดของภาคคือ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
ทิศใต้ มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซียที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้
ภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรที่มีทะเลขนาบอยู่ 2 ด้าน คือ ตะวันออกด้านอ่าวไทย และตะวันตกด้านทะเลอันดามัน จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล ลักษณะภูมิประเทศแบ่งได้ 2 เขต คือ
1. เขตเทือกเขา มีลักษณะการวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เช่น
- เทือกเขาตะนาวศรี เป็นพรมแดนกั้นเขตแดนไทยกับพม่า
- เทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นพรมแดนกั้นเขตแดนไทยกับมาเลเซีย
- เทือกเขาภูเก็ต อยู่ทางตะวันตกของภาค
- เทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นแกนกลางของภาค
2. เขตที่ราบ ที่ราบในภาคใต้มีลักษณะยาวขนานระหว่างภูเขาและชายฝั่งทะเลแคบ ๆ ซึ่งทางตะวันออกเป็นชายฝั่งแบบยกตัว ส่วนชายฝั่งตะวันตกเป็นแบบยุบตัว
แม่น้ำที่สำคัญของภาค
แม่น้ำของภาคใต้เป็นสายสั้น ๆ เนื่องจากมีพื้นที่น้อย และไหลลงสู่อ่าวไทย เช่น แม่น้ำชุมพร แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำตาปี แม่น้ำสายบุรี ส่วนแม่น้ำโกลก เป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ส่วนแม่น้ำปากจั่น กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่า และแม่น้ำตรังไหลลงสู่ทะเลอันดามัน
ลักษณะของชายฝั่งทะเลภาคใต้
ภาคใต้มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 1,825 กิโลเมตร แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกตั้งแต่ชุมพรถึงนราธิวาส ยาว 960 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกยาว 865 กิโลเมตร ซึ่งมีลักษณะดังนี้
- ชายฝั่งด้านตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) เป็นหาดทรายกว้าง เป็นฝั่งทะเลที่มีการยกตัวของพื้นที่ มีสันทรายจงอย มี ลากูน ที่เกิดจากสันดอนที่ปิดกั้นทะเลสาบสงขลาจากทะเลภายนอก มีอ่าวขนาดใหญ่ เช่น อ่าวบ้านดอน อ่าวชุมพร อ่าวสวี เป็นต้น
- ชายฝั่งด้านตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน) เป็นฝั่งทะเลจมตัว มีชายหาดเว้าแหว่งและเป็นหาดน้ำลึกมีป่าชายเลนขึ้นตามชายฝั่ง
และมี ชวากทะเล คือ การยุบจมบริเวณปากแม่น้ำขนาดกว้าง อ่าวที่สำคัญของฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ อ่าวระนอง อ่าวพังงา อ่าวกระบี่ อ่าวกันตัง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้
ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม (Am) คือมีฝนตกชุกสลับกับฤดูแล้งสั้น ๆ ภาคใต้ไม่มีฤดูหนาว เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี จังหวัดที่มีฝนตกชุกที่สุดคือ ระนอง และจังหวัดที่มีฝนตกน้อยคือ สุราษฎร์ธานี
ปัจจัยควบคุมอุณหภูมิของภาคใต้
1. ลม เป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้มากที่สุด เนื่องจากภาคใต้มีลักษณะเป็นคาบสมุทร ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มที่
2. การวางตัวของภูเขา
เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตกทำให้ปะทะกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้มีฝนตกหนักโดยเฉพาะจังหวัดระนอง ส่วนด้านหลังเขาเป็นเขตอับฝนจะอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สาเหตุของการเกิดฝนตกชุกในภาคใต้
1. เกิดจากร่องลมมรสุมที่เคลื่อนจากทางเหนือเข้าสู่เส้นศูนย์สูตร ทำให้ฝนตกชุก
2. เกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ นำฝนมาตกทางทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้
3. เกิดจากพายุดีเปรสชันที่ก่อตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ ทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วม
ทรัพยากรธรรมชาติของภาคใต้
1. ทรัพยากรดิน
ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มต่ำ (พรุ) มีน้ำท่วมขังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำใช้ปลูกข้าว และสวนผลไม้ ส่วนดินบริเวณที่สูงเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรัง เหมาะในการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน
2. ทรัพยากรน้ำ
ภาคใต้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี แต่มีปัญหาในการขาดแคลนน้ำเนื่องจากมีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ส่วนใหญ่จะใช้น้ำจากการขุดเจาะบ่อบาดาลและได้จากเขื่อนต่าง ๆ ได้แก่ เขื่อนคลองหลา จังหวัดสงขลา เขื่อนปัตตานี จังหวัดปัตตานี เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3. ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ในภาคใต้เป็นป่าดิบชื้นตามเทือกเขา และป่าชายเลน จังหวัดที่ป่าไม้มากสุดคือ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นป่าแพะ ป่าโคก ขึ้นปะปนกับทุ่งหญ้าสะวันนา ไม้ที่สำคัญของภาคใต้ คือ ไม้เบญจพรรณและไม้จากป่าชายเลน
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคใต้มีแร่ธาตุหลายชนิด ดังนี้
- แร่ดีบุก พบมากที่สุดในภาคใต้และของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแร่ที่ทำรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด
- แร่พลวงพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี , นครศรีธรรมราช
- แร่ทังสเตน พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ทองคำ พบที่อำเภอโม๊ะโต๊ะ จังหวัดนราธิวาสและที่ชุมพร
- แร่ฟลูออไรด์ , ยิปซัม , ดินขาว พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ถ่านหิน พบที่กระบี่และสุราษฎร์ธานี
- น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ พบที่อ่าวไทย
ประชากรในภาคใต้
ภาคใต้มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช จังหวัดที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดและมีความหนาแน่นเบาบางที่สุดคือ ระนอง ส่วนจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดคือ ภูเก็ต
ปัญหาประชากรภาคใต้
1. ปัญหาความมั่นคงของชาติ การก่อการร้ายตามเขตแนวชายแดน
2. ปัญหาการล่วงล้ำน่านน้ำเพื่อทำการประมง
3. ปัญหาสินค้าหนีภาษี
4. ปัญหาคน 2 สัญชาติ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้
1. การเพาะปลูก พืชสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประชากรในภาคใต้คือ การทำสวนยางพารา ปลูกมากที่จังหวัดสงขลา รองลงมาคือ ปาล์มน้ำมัน ปลูกมาที่จังหวัดกระบี่ มะพร้าวปลูกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กาแฟ ปลูกที่จังหวัดตรัง ส่วนผลไม้ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ปลูกได้แทบทุกจังหวัดของภาค
2. การประมง ทำได้ทุกจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล ยกเว้นจังหวัดยะลา
3. การทำเหมืองแร่ ภาคใต้มีการทำเหมืองแร่มากที่สุด และเป็นรายได้สำคัญของภาคใต้
4. อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่นิยม เช่น การจักสานด้วยหวาย หญ้าลิเพา
5. การค้าและบริการ มีการค้าขายแถบชายแดนไทยกับมาเลเซีย และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย
ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
1. ปัญหาดินพังทลายเนื่องจากฝนตกชุกและการทำเหมืองแร่
2. ปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
3. ปัญหาน้ำท่วม น้ำทะเลทะลักเข้าสู่สวนผลไม้
4. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น