ลักษณะภูมิศาสตร์ภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกมีเนื้อที่ประมาณ 34,380 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ที่ตั้งและขอบเขตภาคตะวันออก
ทิศเหนือ ติดต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินแดนที่อยู่เหนือสุดคือ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชา ดินแดนที่อยู่ตะวันออกสุดคือ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
ทิศตะวันตก ติดต่อกับกรุงเทพฯ สมุทรปราการ อ่าวไทย ดินแดนที่อยู่ตะวันตกสุดคือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอ่าวไทย ดินแดนใต้สุดคือ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันออก
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปจะเป็นทิวเขา ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบชายฝั่งทะเล
- เขตภูเขา ได้แก่ ทิวเขาจันทบุรี ตั้งอยู่ตอนกลางของภาค วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาสอยดาวใต้ และทิวเขาบรรทัด วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มียอดเขาสูงสุดคือ เขาตะแบงใหญ่ เป็นภูเขาที่กั้นพรมแดนไทยกับกัมพูชา
- เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอยู่ทางตอนเหนือของภาค อยู่ระหว่างเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาจันทบุรี
- เขตที่ราบชายฝั่งทะเล ตั้งแต่เทือกเขาจันทบุรีไปจนถึงอ่าวไทยเป็นที่ราบชายฝั่งแคบ ๆ ที่มีภูมิประเทศสวยงาม และมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน
ภาคตะวันออกมีพรมแดนติดต่อกับกัมพูชาที่จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด มีสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดที่จังหวัดจันทบุรี และตราดเป็นพรมแดนธรรมชาติ และมีพรมแดนเรขาคณิต คือ พรมแดนที่กำหนดขึ้นเป็นเส้นตรงลากเชื่อมจุดต่าง ๆ เรียกพื้นที่นี้ว่าฉนวนไทย
คือ พรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรีต่อกับที่ราบต่ำเขมร มักจะมีปัญหาเรื่องการล่วงล้ำดินแดนอยู่เสมอ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน
แม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออก
1. แม่น้ำบางปะกง หรือแม่น้ำปราจีนบุรี เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในภาคตะวันออก มีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาจันทบุรี และไหลลงทะเลที่อำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา
2. แม่น้ำระยอง มีต้นกำเนิดที่จังหวัดชลบุรี ไหลลงทะเลที่จังหวัดระยอง
3. แม่น้ำเวฬุ มีต้นกำเนิดที่เทือกเขาจันทบุรี และไหลลงทะเลที่จังหวัดจันทบุร ี
4. แม่น้ำจันทบุรี
ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 515 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศที่สวยงาม เช่น
- อ่าว ได้แก่ อ่าวอุดม อ่าวสัตหีบ อ่าวระยอง
-แหลม ได้แก่ แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี แหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด
- เกาะ ได้แก่ เกาะช้างที่จังหวัดตราด เกาะกูดที่จังหวัดตราด เกาะสีชังที่จังหวัดชลบุรี เกาะเสม็ดที่จังหวัดระยอง
ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออก
ลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออกคล้ายคลึงกับภาคใต้ คือ
-ทางตอนบนของภาคจากปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราจะมีลักษณะอากาศแบบสะวันนา (Aw)
-ส่วนทางตอนล่างคือจันทบุรีและตราด จะมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้นแบบมรสุม (Am) คือ มีฝนตกชุก อากาศร้อนชื้น
จังหวัดที่มีปริมาณฝนมากที่สุดคือ ตราด และจังหวัดที่มีฝนตกน้อยที่สุดคือ ชลบุรี
ปัจจัยที่ควบคุมอุณหภูมิของภาคตะวันออก
1. ลมพายุ ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันจากทะเลจีนใต้ทำให้เกิดฝนตกหนัก
2. ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากอ่าวไทย ทำให้เกิดฝนตกในภาคนี้
ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือไม่ค่อยมีผลต่อภาคตะวันออกมากนัก เนื่องจากมีทิวเขาสันกำแพงและพนมดงรักเป็นแนวกั้นไว้ อากาศจึงไม่ค่อยหนาวเย็น
3. การวางตัวของแนวเทือกเขาจันทบุรีและเทือกเขาบรรทัดจะกั้นทิศทางของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ฝนตกชุกในเขตจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด
4. ระยะใกล้ไกลทะเล ทางตอนบนของภาคอยู่ห่างจากทะเลมีผลทำให้อากาศร้อน อุณหภูมิสูง ส่วนทางตอนล่างของภาคจะได้รับลมทะเลทำให้อากาศเย็นสบาย
ทรัพยากรธรรมชาติของภาคตะวันออก
1. ทรัพยากรดิน
ดินส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเป็นดินปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่อุดมสมบูรณ์ บริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึงจะเป็นดินโคลนหรือดินเหนียว ส่วนดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินบะซอลต์ หินปูนในบริเวณที่สูงเหมาะแก่การปลูกพืชสวน เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมีดินอัลลูเวียนที่เหมาะใช้ทำนา
2. ทรัพยากรน้ำ
ภาคตะวันออกมีฝนตกชุกยาวนานและมีแม่น้ำสายสั้น ๆ หลายสายค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีการขาดแคลนน้ำจืดในเขตอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยว เช่น จังหวัดชลบุรี
3. ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกจะเป็นป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าชายเลน และป่าเบญจพรรณ จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคือ จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนจังหวัดที่มีป่าไม้น้อยที่สุดคือ จังหวัดชลบุรี
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคตะวันออกมีแร่หลายชนิด ได้แก่
- เหล็ก พบที่จังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
- พลวง พบที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี
- แร่รัตนชาติ เช่น คอรันตัม(พลอยสีน้ำเงิน,ไพลิน) บุษราคัม พบมากที่จังหวัดจันทบุรี และตราด ,ทับทิม พบที่จังหวัดตราด
- แร่เชื้อเพลิง พบที่บริเวณอ่าวไทย บริเวณมาบตาพุดจังหวัดระยอง
ประชากรในภาคตะวันออก
ประชากรในภาคตะวันออกมีจำนวนประชากรน้อยรองจากภาคตะวันตก จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด และมีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดคือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ ตราด และจังหวัดที่มีความหนาแน่นประชากรเบาบางที่สุดคือ จังหวัดสระแก้ว
ปัญหาของประชากรในภาค
1. ปัญหาการอพยพของชาวกัมพูชา
2. ปัญหาการล่วงล้ำอธิปไตยและความปลอดภัยของประชากรตามแนวชายแดน
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1. การเพาะปลูก ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ จะทำนาส่วนใหญ่พืชผลที่สำคัญได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ขนุน เป็นต้น
2. การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ เป็ด
3. การประมง มีการทำประมงน้ำเค็มบริเวณชายฝั่งที่ติดทะเล เช่น ชลบุรี ระยอง ส่วนประมงน้ำจืดที่จังหวัดปราจีนบุรี
4. การทำเหมืองแร่ แร่รัตนชาติที่จังหวัดจันทบุรี และตราด
5. อุตสาหกรรม มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรม เช่น
- **แหลมฉบัง เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหนัก
-** สัตหีบ เป็นอุตสาหกรรมการต่อเรือ ขนถ่ายสินค้าทางเรือ
ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
1. ปัญหาการพังทลายของดิน และดินเสื่อมคุณภาพ รวมถึงกรรมสิทธิในที่ดิน
2. ปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การขาดแคลนน้ำจืด และน้ำเค็มรุกเข้าสวนผลไม้
3. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้ในการเกษตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น